CSR...ความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม
 

             CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม เป็นแนวคิดใหม่ที่ประเทศพัฒนาแล้วอาจนำมาใช้เป็นเงื่อนไขใหม่ในการทำค้ากับประเทศต่าง ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้  ซึ่งถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีรูปแบบหนึ่ง หากองค์กรธุรกิจใดไม่เร่งปรับตัวให้เข้ากับแนวคิด  ดังกล่าวก็อาจถูกปฏิเสธการทำธุรกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการค้าและการลงทุนได้

CSR  คืออะไร 
               “World Business Council for Sustainable Development” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรธุรกิจจาก 170 แห่งทั่วโลก ที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไร ตามปกตินิยามความหมายของ CSR ว่าเป็นความมุ่งมั่นหรือพันธสัญญาขององค์กรธุรกิจ ในการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดหลักจริยธรรมในการบริหารองค์กร ทั้งการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน อันจะส่งผลดีต่อสวัสดิภาพโดยรวมของครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมในวงกว้าง การปฏิบัติตามแนวคิดของ CSR จึงครอบคลุมทั้งการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนเสรีภาพของแรงงาน และการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

ความเป็นมาของ CSR
               แนวคิด CSR มีมานานแล้ว โดยแฝงอยู่ในกฎระเบียบทางการค้าต่าง ๆ อาทิ การปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นกลุ่มสหภาพยุโรป มีข้อบังคับการปิดฉลากสินค้าที่บ่งบอกถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎระเบียบเรื่องบรรจุภัณฑ์และการกำจัดกากขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว แนวคิด CSR เริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลกมากขึ้น โดยในการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2542 นาย Kofi Annan เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจในทุกประเทศแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก โดยเสนอบัญญัติ 9 ประการ ที่เรียกว่า“The UN Global Compact” ซึ่งแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก คือ หมวดสิทธิมนุษยชน มาตรฐาน  แรงงาน และสิ่งแวดล้อม และต่อมาได้เพิ่มบัญญัติที่ 10 คือ หมวดการต่อต้านคอร์รัปชั่นไว้ด้วย โดยปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจจากทั่วโลกเป็น สมาชิกของ UN Global Compact รวม 1,861 บริษัท (เป็นบริษัทในประเทศไทย 13 บริษัท)

แนวทางปฏิบัติตามแนวคิด CSR
            The Centre of Urban Planning and Environmental Management” ของ University of Hong Kong  รวบรวมแนวทางปฏิบัติตามแนวคิด CSR ขององค์กรธุรกิจในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย แบ่งเป็น 4 หมวดหลัก คือ
            1. การปฏิบัติภายในองค์กร อาทิ การดูแลไม่ให้มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในองค์กร มีการจัดทำและแถลงระเบียบเรื่องการจ้างงานป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน (เช่น ระยะเวลาของการทำงานตามปกต ิและระยะเวลาสูงสุดในการทำงานล่วงเวลา) มีโครงสร้างอัตราค่าจ้าแรงงานที่ยุติธรรม และให้เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมต่าง ๆ ภายในองค์กร
            2. การปฏิบัติภายนอกองค์กร อาทิ มีระบบตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมทั้งของผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่องค์กร รวมทั้งมีนโยบายการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและเป็นธรรม
            3. ความน่าเชื่อถือ อาทิ มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเพื่อรายงานผลความคืบหน้าขององค์กรจากการปฏิบัติตามแนวคิด CSR อย่างต่อเนื่อง
            4. การอบรมบุคลากร อาทิ มีหลักสูตรอบรมการเป็นพลเมืองที่ดีแก่พนักงานในองค์กร รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาสังคมโดยรวมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

การบังคับใช้มาตรฐาน CSR ในอนาคต
           ปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีการกำหนดแบบแผนเป็นมาตรฐานตายตัวสำหรับการปฏิบัติตามแนวคิด CSRแต่ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2547 International Organization for Standardization (ISO) ได้ตกลงร่วมกันที่จะเตรียมร่างมาตรฐาน “ISO-Social Responsibility” เพื่อให้การรับรององค์กรธุรกิจที่สามารถปฏิบัติตามแนวคิด  CSR โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2550 องค์กรใดที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานดังกล่าว นอกจากจะส่งผลดีในด้านภาพลักษณ์ตลอดจนตัวสินค้าหรือบริการขององค์กรแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้าหรือบริการขององค์กรนั้น ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าในอนาคต หากองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามแนวคิด CSR อาจเกิดปัญหาในการทำการค้ากับกลุ่มประเทศ/บริษัท ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวคิดดังกล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.exim.go.th ์
 
 
หน้าหลักเว็บไซต์สำนักการแพทย์ หน้าหลัก ศูนย์ประสานราชการใสสะอาด สนพ.